บริษัท ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

บทความ

รวบรวมบทความเกี่ยวกับระบบดับเพลิงและระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

ระบบดับเพลิงบนสายพานลำเลียง

Posted: 29/10/2019



            ปัจจุบันประเทศไทยเรามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มจำนวนของโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน โดยใช้เชื้อเพลิงที่เป็นสารอินทรีหรือที่เรียกกันว่า “โรงฟ้าชีวมวล” ที่เอกชนเป็นเจ้าของกิจการ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งนี้อาจเกิดการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการนำเอาวัสดุเหลือใช้นำมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
            เชื้อเพลิงชีวมวลที่นำมาใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้า ตามโรงไฟฟ้าชีวมวลภายในประเทศส่วนใหญ่นั้น มักเป็น เศษวัตถุดิบที่เหลือจากอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ อาทิ แกลบจากโรงสีข้าว กากอ้อยจากโรงงานผลิตน้ำตาล เศษไม้จากโรงงานผลิตกระดาษ กากถั่วเหลืองจากโรงงานผลิตน้ำมันพืช ฯลฯ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล นอกจากนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลบางแห่งยังใช้ขยะมาใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
            ก่อนที่จะนำเชื้อเพลิงชีวมวลไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น จะต้องทำการไล่ความชื้น ส่วนใหญ่จะนำมาตากแดดให้แห้ง  การลำเลียงเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านี้จากกองกากลำเลียงสู่เตาเผามักนิยมใช้การลำเลียงทางสายพานลำเลียง  ซึ่งกองกากเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านี้ มักตั้งอยู่กลางแจ้ง เพื่อให้แดดส่องไล่ความชื้นได้อย่างเต็มที่ ในช่วงฤดูร้อนมักเกิดความร้อนสะสมจนเชื้อเพลิงชีวมวลอุณหภูมิสูง มีโอกาสง่ายที่จะเกิดการสันดาปจนเกิดเพลิงลุกไหม้ได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งขณะลำเลียงเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่บนสายพานลำเลียงก็ตามที ซึ่งวิธีป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลาม เป็นวงกว้างขณะลำเลียงเชื้อเพลิงชีวมวลบนสายพานลำเลียง จึงทำได้โดยการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติบนสายพานลำเลียงดังกล่าว                                                                                                                                                                                                                                    
            ระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่ใช้กับสายพานลำเลียงโดยทั่วไป ทำงานโดยมี ระบบตรวจจับสัญญาณเพลิงไหม้ ทำหน้าที่ตรวจจับความร้อนที่ลุกไหม้กองเชื้อเพลิงชีวมวลบนสายพานลำเลียง แล้วส่งสัญญาณไปยังตู้ควบคุม เพื่อส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ควบคุมทราบและทำการหยุดการทำงานของสายพานลำเลียงโดยทันที พร้อมสั่งการให้ระบบดับเพลิงทำงาน โดยการฉีดละอองน้ำผ่านหัวสปริงเกอร์ฉีดน้ำดับเพลิง เพื่อไม่ให้เพลิงลุกลาม
            สำหรับสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบติดตั้งระบบดับเพลิงบนสายพานลำเลียงนั้น ต้องเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน มีการออกแบบติดตั้งหัวสปริงเกอร์ฉีดน้ำดับเพลิง ในปริมาณที่เหมาะสมครอบคลุม การดับเพลิงในทุกระยะ สามารถดับเพลิงได้ทันท่วงที ไม่ทำให้เพลิงลุกลาม ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังควรเลือกบริษัทผู้ติดตั้งที่น่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญและความชำนาญในการติดตั้ง หลังการติดตั้งควรตรวจสอบและบำรุงรักษาเป็นประจำตามกำหนด อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวสปริงเกอร์ฉีดน้ำดับเพลิง อาจมีการอุดตันจากฝุ่นละออง ซึ่งจะส่งผลให้ทำงานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพได้
 
               
 
 

  • แชร์บทความนี้