บริษัท ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

บทความ

รวบรวมบทความเกี่ยวกับระบบดับเพลิงและระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ สำคัญไฉน

Posted: 03/05/2019


     หลายคนมักเข้าใจว่า ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System) คือระบบเดียวกัน หรือระบบที่ทำงานเหมือนกันกับระบบดับเพลิง ทั้งที่ความจริงระบบแจ้งเพลิงไหม้มักจะทำงานแยกจากระบบดับเพลิงอย่างเห็นได้ชัดตามหน้าที่ของแต่ละระบบ กล่าวคือ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทำหน้าที่แจ้งเตือนให้ทราบว่ามีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น ส่วนระบบดับเพลิงทำหน้าที่ในการดับเพลิงนั่นเอง

    ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ
    1. อุปกรณ์แจ้งเหตุ ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุอัตโนมัติ ซึ่งมีทั้งการตรวจจับควัน หรือการตรวจจับความร้อน และอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ ซึ่งต้องใช้คนแจ้งเหตุ โดยการกดสวิทต์นั่นเอง
    2. ตู้ควบคุม  จะคอยรับสัญญาณจากอุปกรณ์แจ้งเหตุ พร้อมระบุตำแหน่งหรือจุดที่สัญญาณแจ้งเหตุทำงาน ก่อนส่งสัญญาณให้อุปกรณ์แจ้งสัญญาณทำงาน
    3. อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้คนได้ทราบเพื่อดำเนินการดับไฟ หรืออพยพต่อไป ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ที่สร้างเสียงสัญญาณ เช่น กระดิ่ง กริ่ง ลำโพง ไซเรน เป็นต้น และอุปกรณ์ที่สร้างสัญญาณด้วยแสง อย่างสโตรบ หรือไฟกระพริบ เป็นต้น   

    ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้มักถูกติดตั้งในอาคารหรือสถานประกอบการณ์ที่มีผู้คนอยู่อาศัย หรือร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงงาน โรงเรียน ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้ผู้ที่อยู่ในอาคารได้ทราบและดำเนินการอพยพออกจากอาคาร โดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวนอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ หมวด ๒ ความปลอดภัยเกี่ยวกับอาคารและทางหนีไฟ ข้อ ๙ เขียนไว้ว่า “สถานประกอบกิจการที่มีอาคารตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป หรือมีพื้นที่ประกอบกิจการตั้งแต่สามร้อยตารางเมตรขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ในสถานประกอบการกิจการทุกชั้น”

    นอกจากนี้ยังระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้อีก 5 ข้อ ได้แก่
1.    ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
-    อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ทั้งที่ใช้ในระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ เพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทำงาน 
-    อุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ต้องสามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้ทุกคน ภายในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึงเพื่อการหนีไฟ 
2. อุปกรณ์แจ้งเหตุที่ใช้มือต้องอยู่ในที่เห็นได้อย่างชัดเจน เข้าถึงได้ง่าย หรืออยู่ในเส้นทางหนีไฟ โดยติดตั้งห่างจากจุดที่ลูกจ้างทำงานไม่เกินสามสิบเมตร 
3. เสียงหรือสัญญาณที่ใช้ในการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ต้องมีเสียงหรือสัญญาณที่แตกต่างไปจากเสียง หรือสัญญาณที่ใช้ในสถานประกอบกิจการ 
4. กิจการโรงพยาบาลหรือสถานที่ห้ามใช้เสียงหรือใช้เสียงไม่ได้ผล ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ หรือมาตรการอื่นใด เช่น สัญญาณไฟ หรือรหัส ที่สามารถแจ้งเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
5. การติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือมาตรฐานอื่นที่อธิบดีกำหนด

     ดังนั้นการใช้งานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ จึงต้องใช้ในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จริงเท่านั้น ห้ามใช้หรือกดสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้พร่ำเพรื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุโกลาหล ชุลมุนวุ่นวาย จากผู้คนที่อพยพ เพราะคิดว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้จริงนั่นเอง บางครั้งการที่ต่างคนต่างรีบวิ่งหนีเอาตัวรอดอาจเกิดการเบียดเสียดเหยียบกันจนล้ม หรืออาจเป็นลมได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็เป็นได้ 

         
 

  • แชร์บทความนี้